ฝึกลูก...ไม่ใช่เรื่องยาก (จริงหรือ)

นึกขึ้นมาได้ว่า ตั้งแต่ลูกเกิดมาจน 2 ขวบแล้ว ยังไม่เคยบันทึกการฝึกเริ่มต้นในเรื่องต่าง ๆ ไว้เลย เช่น การดื่มนมจากหลอด การบอกฉี่ การเลิกนมมื้อดึก (นี่ถ้ามีลูกคนที่สองอาจจำไม่ได้แล้วว่าใช้วิธีไหน และเมื่อไรจึงเหมาะสม) น้องพราวถือว่าเป็นเด็กที่ฝึกง่าย และให้ความร่วมมือได้ดีทีเดียว คนเลี้ยงจึงไม่เหนื่อยมากนัก ถ้าไล่นับกันตั้งแต่ต้น ก็มีพลาดอยู่เรื่องเดียวคือการเปลี่ยนจากกินนมจากเต้า มาเป็นกินจากขวด เพราะความที่ไม่มีประสบการณ์ จึงต้องวุ่นวายกันน่าดู

ภาพประกอบจาก google ค่ะ
วัยแรกเกิด (ทำไมต้องหัดกินนมจากขวด)
ลูกจะชอบดูดนมจากเต้ามาก และเป็นการกระตุ้นน้ำนมที่ดี แต่อย่างไรก็ตาม อย่าใจอ่อนจนเกินไป สลับให้เค้าดูดจากขวดบ้าง โดยเอานมแม่ปั๊มใส่ขวดให้ดูด สลับกันไปเรื่อย ๆ จนลูกเริ่มชิน (ถ้าเป็นแนวทางการเลี้ยงด้วยนมแม่ มักจะนิยมให้ลูกดูดจากเต้ามากกว่าค่ะ แต่ปัญหาภายหลังเวลาที่แม่ต้องกลับไปทำงาน มันหนักหนาจริง ๆ เพราะถ้าลูกไม่คุ้นเคยกับขวดนมมาก่อน เค้าจะปฏิเสธอย่างรุนแรง ถึงกับไม่ยอมกินทั้งวัน และร้องอาละวาดกันบ้านแตกเลยทีเดียว) ดังนั้นการปั๊มใส่ขวดสลับให้กินบ้างก็ไม่เสียหายค่ะ
อากาศหนาว แต่ก็ต้องแปรงฟันก่อนนอนทุกวันค่ะ
วัยฟันน้ำนมขึ้น (ดูแลฟันซี่แรกของหนู)
ลูกสาวฟันขึ้นช้าค่ะ ซี่แรกโผล่มาก็เกือบ 9 เดือนแล้ว พอฟันเริ่มขึ้นก็ต้องเริ่มหาวิธีทำความสะอาดฟัน ซึ่งเรื่องนี้ก็พลาดไปเช่นกัน ไม่ได้ใส่ใจสักเท่าไร เพราะคิดว่ารอให้รู้เรื่องอีกสักหน่อยค่อยหัดแปรงฟันก็ได้ แต่อันที่จริงพบข้อมูลจากหลายแหล่งบอกว่าคราบของน้ำนมสามารถทำให้ฟันผุได้มากเป็นอันดับต้น ๆ เลย ดังนั้นขอแนะนำให้เริ่มทำความสะอาดฟันตั้งแต่ซี่แรก ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการฝึกความคุ้นเคยให้กับเด็กด้วยค่ะ โดยการเอาผ้าสะอาด หรือสำลี หรือผ้าก๊อตชุบน้ำหมาด ๆ เช็ดทำความสะอาดทั้งฟันและเหงือกทุกวัน (ที่บ้านนี้พลาดไปอย่างที่บอก พอจะเริ่มทำความสะอาด เด็กก็ปฏิเสธ ไม่ยอมอ้าปาก เพราะไม่คุ้นเคย กลัว)

วัย 9 เดือน (เลิกนมมื้อดึก)
เป็นวัยที่ควรให้เลิกดื่มนมมื้อดึกได้แล้ว เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องฝึกอย่างจริงจัง เหตุผลเพราะฟันเริ่มขึ้นแล้ว การดื่มนมมื้อดึก หรือการดูดขวดนมแล้วหลับไปพร้อมกับขวดนม ไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย เพราะมีแต่ผลเสียมากกว่าผลดี คือจะทำให้ฟันผุ ทัณตแพทย์บอกว่าเด็ก 80% ที่ฟันผุมีเหตุมาจากการดื่มนมกลางคืน เพราะแบคทีเรียมันมาทำลายฟันที่มีคราบนมติดอยู่นั่นเอง

แม่ ๆ หลายท่านเชื่อว่าระหว่างกลางคืนเด็กจะหิว การตื่นมาร้องกลางดึกก็คิดว่าลูกหิว ก็เลยพยายามให้กินอยู่ตลอดเวลา ที่จริงแล้วเด็กไม่ได้หิวนะคะ เมื่อเค้ากินข้าวได้แล้ว กระเพาะเริ่มพัฒนา ฝึกให้รู้จักมื้ออาหารโดยการกินเป็นเวลา และลดปริมาณรอบการกินนมในช่วงกลางคืนลง ค่อย ๆ ลดลงโดยเว้นระยะห่างให้นานขึ้น เช่น เคยดื่มนมทุก 4 ชม.ก็ลองทิ้งระยะให้นานขึ้น ถ้าลูกนอนยาวไม่ตื่นก็ไม่ต้องปลุก ปล่อยให้นอนไปยาว ๆ ทำแบบนี้ไปสัก 2 สัปดาห์ก็หลับยาวได้ทั้งคืนแล้วค่ะ มีข้อแนะนำว่ามื้อเย็นควรให้ลูกได้กินอาหารอย่างเต็มที่เพื่อจะได้ไม่หิวระหว่างช่วงกลางคืน หากกลัวว่าลูกจะได้กินนมน้อยเกินไป ก็สามารถเพิ่มรอบนมในช่วงกลางวันให้เยอะขึ้นได้

อีกอย่างการให้กินนมก่อนนอนทำให้ลูกเพลิดเพลินหลับง่าย หลายบ้านก็มักใช้นมเป็นเครื่องมือในการทำให้ลูกหลับ นี่ก็เป็นเรื่องที่ไม่ดีเลย เหตผลเดียวกันคือจะทำให้ฟันผุ ดื่มนมหลับไปโดยที่มีคราบน้ำนมติดอยู่ที่ปากและฟัน และถ้าไม่สามารถฝึกให้นอนได้เอง ก็จะต้องดูดขวดนอนแบบนี้ไปจนโตอย่างแน่นอน ผลพวงตามมามากมาย เด็กไม่ได้ดูดขวด ไม่ยอมนอน อาละวาด ดังนั้นค่อย ๆ ฝึกแบบไม่ให้เค้ารู้ตัว อย่าบังคับในทันที แต่ให้หาวิธีอื่นมาเบี่ยงเบน หลอกล่อ เช่น ชวนเล่น ชวนทำกิจกรรม อ่านหนังสือ อะไรก็ได้ที่เค้าชอบ อาจต้องใช้เวลานานสักหน่อย แต่สักพักเค้าก็จะเริ่มเหนื่อย ง่วง ถึงตอนนั้นอาจามไม่ต้องใช้ ขวดนมเลยก็ได้ ทำแบบนี้สัก 1-2 สัปดาห์ เค้าก็จะเริ่มชินกับการนอนโดยไม่ต้องพึ่งพาขวดนมอีกต่อไป
เริ่มจากนมชงใส่แก้วหัดดื่ม พอโตขึ้นก็ขยับมาเป็นนมกล่อง
วัย 1 ขวบ (เลิกขวดนม)
อันที่จริงแล้วการเลิกขวดนมสามารถทำได้เร็วกว่านี้มากค่ะ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของเด็กแต่ละคน แต่ไม่ควรเกินขวบ เพราะเด็กโตเร็วมาก เค้าจะมีความเป็นตัวของตัวเองได้เร็ว ไม่ยอมถูกบังคับ ไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ใช่ว่าเด็กเค้าดื้อนะคะ แต่เป็นเพราะเค้าเริ่มโต จึงสามารถแสดงอาการต่อต้านในสิ่งที่ไม่ถูกใจ ในวัยก่อนขวบเค้าจะให้ความร่วมมือได้ดีกว่าค่ะ เพราะเค้ายังทำอะไรด้วยตัวเองไม่ได้มากนัก กำลังอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ วิธีใหม่ ๆ เช่น ลูกสาวที่บ้านนี้เห็นผู้ใหญ่ดูดน้ำหวานจากหลอด ก็เลยอยากลองบ้าง เราก็ให้เค้าได้ลองดูในบางครั้ง เริ่มลองดูดหลอดตั้งแต่ 8 เดือน อาจเริ่มจากหลอดเล็ก ๆ เช่นหลอดยาคูลท์ หลอดนมเปรี้ยว เพราะใช้แรงไม่ต้องเยอะ พอดูดนมหวาน ๆ ขึ้นมาได้ถึงปาก ก็ชอบใจ สนุกสนาน ตื่นเต้น ช่วงที่เค้าเริ่มสนุกกับอะไรใหม่ ๆ เราก็เอาหลอดให้เค้าดูดนมแทนการดื่มจากขวดซะเลย โดยชงนมใส่แก้ว (เก็บขวดนมทั้งหมดให้พ้นสายตานะคะ เพื่อให้เค้าเริ่มลืม) ลองดูก่อนว่าเค้าให้ความร่วมมือดีแค่ไหน ถ้าไม่ร้องเอาขวดนมอีก ก็ทำลืมไปเลย สักพักเค้าก็จะชินกับการกินนมในแบบใหม่ และไม่กลับไปใช้ขวดนมอีก ช่วงระหว่างการฝึก กรุณาอย่าพาไปเล่นกับเด็กอื่นที่เค้ากินขวดนมเป็นอันขาด ไม่ให้เห็นแม้กระทั่งรูปขวดนมในทีวีหรือจากหนังสือ จนกว่าจะเลิกได้จริง ๆ สัก 3-4 สัปดาห์
วัย 1 ขวบครึ่ง (ฉี่-อึ หนูบอกได้)
เรื่องนี้ฝึกยากหน่อยนะคะ ต้องใช้เวลานานมาก คนเลี้ยงต้องใจเย็นมาก ๆ ต้องให้เวลามากจริง ๆ กลางวันที่อยู่กับเด็ก จะต้องคอยหมั่นถามทุก 3 ชม.ว่าไปฉี่กันไหม ปวดฉี่หรือยัง เพราะช่วงแรก ๆ เค้าไม่บอกแน่นอนค่ะ เราต้องคอยกะเวลาเอาเองและชวนไปนั่งฉี่ในห้องน้ำ ถ้าจะฝึกก็ไม่ควรใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปนะคะ  ควรฝึกในช่วงกลางวันก่อนเพราะเด็กสามารถบอกได้และเข้าใจ ที่บอกว่าไม่ควรใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปเพราะว่าถ้าเด็กเค้าฉี่ออกมาเค้าจะรู้สึกได้ว่ามันเปียก ซึ่งต่างจากการใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปฉี่ไปเท่าไรก็ยังไม่รู้สึกว่าเปียก จึงทำให้เด็กไม่สามารถแยกออกว่าแบบไหนคือฉี่ ถ้าเค้าฉี่ใส่กางเกงโดยไม่บอกก็อย่าไปดุด่านะคะ ให้ค่อย ๆ สอนบ่อย ๆ ว่าแบบนี้ไม่ดี ไม่มีใครฉี่ใส่กางเกงเลย พ่อแม่ก็ไปฉี่ที่ห้องน้ำ พูดบ่อย ๆ เมื่อไรที่เค้าบอกว่าฉี่ เราต้องรีบพาไปห้องน้ำเร็วที่สุด เพราะเด็กยังอั้นฉี่ไม่เป็นค่ะ บางทีบอกแล้วก็ฉี่เลย การพูดชมเชยสำคัญมาก ควรชมทุกครั้งที่เค้าบอกได้ถูกต้อง

ส่วนเรื่องอึ เหมือนจะง่ายกว่าการบอกฉี่ เพราะอึยังมีช่วงที่รู้สึกได้ เค้าสามารถอั้นไว้ได้ระยะหนึ่ง การสอนก็เหมือนกันกับฉี่เลยค่ะ ทุกครั้งที่บอกได้ถูกต้องก็ต้องชมทุกครั้งไป

เรื่องการฝึกฉี่กับอึ เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาฝึกนานที่สุดเลย ค่อยเป็นค่อยไป ต้องให้เวลาเค้าเยอะ ๆ ลูกสาวเริ่มฝึกตั้งแต่ 1 ขวบนิด ๆ จนตอนนี้ 2 ขวบกว่าแล้ว เรื่องฉี่อึช่วงกลางวันสามารถบอกได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ช่วงหลับยังไม่สามารถควบคุมได้ คงต้องใช้เวลาอีกนาน ได้แค่นี้ก็ดีใจมากแล้ว ช่วยประหยัดแพมเพิสกลางวันไปได้เยอะทีเดียวค่ะ

**ขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่คุณพ่อทุกท่านประสบความสำเร็จในการฝึกลูกน้อย หลาย ๆ เรื่องที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้ทำเพื่อความสะดวกสบายของผู้เลี้ยง แต่ทุกเรื่องเป็นผลดีต่อตัวลูกน้อยเองทั้งสิ้นค่ะ...แต่ละเรื่องต้องฝึกตามวัยที่เหมาะสม เร็วไปน้องไม่พร้อมก็ไม่ดี หากช้าเกินไปก็จะฝึกได้ยากมาก ดังนั้นสังเกตลูกของคุณและเลือกเวลาที่เหมาะสมค่ะ**

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น